“เหนือสุดเวียงเชียงใหม่ ยิ่งใหญ่ดอยผ้าห่มปก แม่น้ำกกแหล่งชีวิต ศักดิ์สิทธิพระธาตุสบฝาง เมืองพระนางมะลิกา เด่นสง่าวัดท่าตอน ลือขจรผลไม้ไทย มากมายหลายเผ่าชน”

วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556


ประวัติแม่อาย
       

   อำเภอแม่อายตั้งอยู่ในบริเวณเมืองโบราณที่ชื่อ เวียงมะลิกา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลแม่อาย ห่างจากที่ว่าการอำเภอแม่อาย 2 กิโลเมตร มีทางแยกออก จากทางหลวงแผ่นดินสายฝาง-ท่าตอน กิโลเมตรที่ 16.50 เป็นทางดินอัดแน่นระยะทาง 200 เมตร มีคูเมืองและซากอิฐกำแพงดินเป็นที่สังเกตได้ราษฏร ถือว่าเป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเวียงมะลิกา เขียนว่า เจ้าแม่มะลิกา เป็นราชบุตรี ในพระเจ้าฝางและพระนางสามผิว (พระนางสามผิว มีพระฉวีวรรณงดงามในตอนเช้า มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดุจดอกมะลิ ในเวลาเที่ยงวันพระฉวีวรรณ เปลี่ยนเป็นสีแดงดอกกุหลาบ ต่อมาเวลาเย็นพระฉวีวรรณจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีชมพูดุจ ดอกบัวจงกลนี จึงได้พระนามว่า "พระนางสามผิว" พระนางสามผิว มีพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์เป็นพระพุทธรูปประจำพระองค์ ทรงสักการะบูชาทุกค่ำเช้า วันหนึ่งมี่ขุ่นเคืองพระทัยด้วยเรื่อง พระสนมเอกของพระเจ้าฝาง เมื่อถึงเวลาถวายเทียนสักการะบูชาพระพุทธปฏิมาแต่พระองค์ยังมิอาจดับพระทัยที่ขุ่นเคืองได้ ขณะที่จุดเทียนถวายสักการะ บูชาพระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ และทรงละเลยไว้ด้วยความประมาท เทียนที่จุดไว้ล้มลงเผาไหมพระโอษฐ์พระพุทธปฏิมา รุ่งขึ้นเวลาเช้าเมื่อพระนางเจ้า เสด็จออกจากที่บรรทมทรงทราบว่าเทียนล้มลงเผาไหม้พระโอษฐ์พระพุทธปฏิมาแก่นจันทร์ก็ทรงสำนึกความบาปที่กระทำด้วยความประมาท ครั้นกาลต่อมา พระครรภ์ครบกำหนดทศมาส ประสูติพระราชธิดาผู้ทรงโฉมศิริโสภาคพระฉวีวรรณผุดผ่องแม้นเหมือนพระมารดา แต่ก็มีตำหนิที่ควรสมเพชที่พระธิดา มีริมพระโอษฐ์ล่างแหว่งไป
          เมื่อราชบุตรีทรงวุฒิจำเริญขึ้น พระเจ้าฝางทรงเกรงเป็นที่ละอายแก่ไพร่ฟ้าพลเมืองจึงทรงสร้างสวนหลวงขึ้นทางทิศเหนีอเวียงสุโท (ใกล้กับ เมืองฝาง) และสร้างคุ้มหลวง ประกอบด้วย คู และปราการ ล้อมรอบประทานราชบุตรี ให้เป็นที่ประทับสำราญ สวนหลวงแห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า "เวียงมะลิกา" เชื่อว่า เวียงมะลิกาไม่มีบุรุษเพศเลย ผู้คนล้วนแต่สตรีเพศพระแม่เจ้าทรงฝึกฝนสตรีผู้กำยำเป็นทะแกล้วคนหาญของเวียงมะลิกา จนเป็นที่ลือชา ปรากฏว่าเวียงมะลิกามีคนหาญการธนูที่แกร่งกล้ายิงแม่นนัก
          กาลต่อมามีราชบุตรของเจ้าผู้ครองเวียงภูก่ำ (แคว้นไตใหญ่) ได้สดับข่าวเกี่ยวกับพระเจ้าแม่มะลิกา แรงแห่งบุพเพสันนิวาสเกิดขึ้นในราชบุตร พระราชบุตรได้ทรงอ้อนวอนพระเจ้าภูก่ำ ขอเสด็จไปเวียงมะลิกาเยี่ยงสามัญชนคนค้าขาย พระเจ้าภูก่ำทรงอนุยาต แล้วดำรัสสั่งอำมาตย์คนสนิท ให้ ตระเตรียมม้าต่างอัญมณีเป็นสินค้าโดยเสด็จพระราชบุตร ข่าวการเสด็จฯของพระราชบุตรทราบถึงเจ้าแม่มะลิกา พระองค์ก็เกิดอางขนางในวันที่พระราช บุตรกำหนดเข้าเฝ้าถวาย อัญมณีแม่เจ้าก็เสด็จหลีกลี้ไปสรงสนานน้ำห้วยและแต่งให้พระพี่เลี้ยงนางเหลี่ยวอยู่เวียงมะลิการับเสด็จพระราชบุตร เมื่อพระราช บุตรในรูปของพ่อค้านายวาณิชเข้าเฝ้า พระพี่เลี้ยงก็กล่าวว่าแม่เจ้าไม่ทรงปรารถนาพบเห็นชายใด ๆ และไม่ต้องประสงค์ในการได้ยินเรื่องเช่นนี้ พ่อค้า จำแลงก็ลากลับเวียงภูก่ำด้วยความโทมนัส ขณะที่พระนางมะลิกาสรงสนานอยู่ น้ำในลำห้วยก็กลายเป็นสีเลือดด้วยละอายพระทัยคนทั้งหลายจึงเรียกน้ำห้วย นั้นว่า "แม่อาย" จึงได้ชื่อตำบลนี้ว่า "แม่อาย"
          อำเภอแม่อาย เดิมเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอฝาง ซึ่งทางราชการได้แยกตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว และตำบลแม่นาวาง ออกจากอำเภอฝาง ยกฐานะ ให้เป็นกิ่ง ให้นามว่ากิ่งอำเภอแม่อายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2510 และเวลาต่อมาอีก 6 ปี ได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอแม่อาย ขึ้นเป็นอำเภอแม่อาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2516
          อำเภอแม่อายอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศเหนือประมาณ 175 กิโลเมตร อำเภอแม่อายมีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมที่สำคัญเช่น พระธาตุสบฝาง พระธาตุดอยน้ำค้าง พระธาตุปูแช่ อนุสาวรีย์เจ้าแม่มะลิกา
อำเภอแม่อายในปัจจุบันนี้มีพื้นที่ประมาณ 736,701ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 478,725 ไร่ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่167 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 900 กิโลเมตร มีประชากรทั้งหมดประมาณ 74,328 คนโดยแบ่งเป็นชาย 37,142 คนและหญิง 37,146 คนเป็นชาวพื้นราบ 60% และเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ รวม 40% แบ่งการปกครองออกเป็น 7 ตำบลคือ 1. ตำบลแม่อาย 2. ตำบลมะลิกา 3. ตำบลท่าตอน 4. ตำบลแม่สาว 5. ตำบลแม่นาวาง 6. ตำบลบ้านหลวง และ 7. ตำบลสันต้นหมื้อ รวมทั้งสิ้น 80 หมู่บ้าน รวม 14,966 ครัวเรือน(ข้อมูลสำรวจปี2541)เมืองเจ้าแม่มะลิกา เป็นสง่าวัดท่าตอนน้ำพุร้อนเมืองงาม ล่องแพตามแม่น้ำกกดอยผ้าห่มปกบังเงา ชนชาวเขาหลากหลายมากมายด้วยผลไม้


  



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น